วิชาชีพสื่อสารมวลชน


บทความเรื่อง”วิชาชีพสื่อสารมวลชน”

บทคัดย่อภาษาไทย


วิชาชีพสื่อสารมวลชน กลายมาเป็นหนึ่งในวิชาชีพที่เป็นที่ใฝ่ฝันของใครหลายคนในโลกยุคใหม่ ยุคที่เทคโนโลยีสามารถนำความรู้ ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ไปส่งถึงมือผู้ชมได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกสถานการณ์ บทความนี้จะกล่าวถึง ความหมายของคำว่าสื่อสารมวลชน บทบาทในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของผู้ประกอบวิชาชีพนี้ต่อสาธารณะชนผ่านสื่อมวลชนชนิดต่าง ๆ สิ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลคนควรตระหนักถึง และความท้าทายในทัศนของผู้เขียนที่เป็นแรงดึงดูดให้คนมากมายมีความสนใจและอยากจะเข้าไปผจญภัยในโลกของการสื่อสารในฐานะ ”สื่อสารมวลชน”

คำนำ

นับตั้งแต่ถูกกระบวนการของธรรมชาติสร้างจนมีสัญญาณชีวิตเกิดขึ้น มนุษย์เรียนรู้ที่จะใช้การสื่อสารเพื่อถ่ายทอดความรู้สึก ความต้องการ หรือส่งข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อพื้นฐานในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส การใช้ภาษาพูด สีหน้า ท่าทาง หรือแววตา ให้คนอื่นหรือที่เรียกว่าผู้รับสารรับรู้ การสื่อสารจึงเป็นกระบวนการสำหรับแลกเปลี่ยนสารระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร โดยอาจเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลสองคนที่ติดต่อกันในสังคม การสื่อสารระหว่างกลุ่มคน ระหว่างองค์กร การสื่อสารจากบุคคลหรือกลุ่มคนไปสู่สาธารณะในลักษณะของการตลาด การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือกิจการสาธารณะต่าง ๆ แม้กระทั่งการสื่อสารภายในตัวบุคคลก็ถือเป็นการสื่อสารในอีกรูปแบบหนึ่ง ในความเป็นจริงการสื่อสารกับตัวเองภายในเป็นการสื่อสารที่เกิดขึ้นเป็นอันดับแรกก่อนการสื่อสารประเภทอื่นด้วยซ้ำไป เพราะก่อนที่เราจะทำอะไรก็ตามย่อมต้องมีกระบวนการคิด วิเคราะห์ วางแผน ตัดสินใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการสื่อสารที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล ก่อนที่จะกลั่นกรองออกมาเป็นสาร เป็นคำพูด หรือท่าทางการแสดงออก ที่สามารถส่งออกไปให้ผู้รับสารที่อยู่ภายนอกหรือบุคคลที่เราติดต่อด้วยรับรู้ การสื่อสารภายในบุคคลเป็นการสื่อสารที่ควบคู่กับการสื่อสารประเภทอื่น ๆ การที่จะมีการสื่อสารออกไปสู่ผู้รับสารภายนอกได้ดีหรือไม่นั้นย่อมต้องขึ้นอยู่กับการสื่อสารภายในที่ดี ที่เป็นระบบก่อนเป็นอันดับแรก การสื่อสารภายในตัวบุคคลจึงเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดสาร หรือข้อมูล ความคิด เรื่องราวต่าง ๆ สำหรับที่จะส่งระหว่างผู้ส่งสารไปสู่ผู้รับสาร ผ่านตัวกลางในการส่งสารที่เรียกว่าสื่อ ซึ่งนอกจากสีหน้า ท่าทางการแสดงความรู้สึก การสัมผัส การพูดหรือการเขียนผ่านการใช้ภาษา ในยุคปัจจุบันมนุษย์ได้มีการประดิษฐ์สื่อในรูปแบบต่าง ๆ อย่างหลากหลายขึ้นมาเพื่อใช้ในการส่งสาร ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์และวิทยุ ไปจนถึงสื่อทางอินเตอร์เน็ต ทำให้การสื่อสารสามารถขยายขอบเขตการรับรู้ออกไปในวงกว้าง มีความสะดวกและรวดเร็วในการส่งสาร ในขณะที่ผู้รับสารก็สามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้รับสารที่นับวันจะยิ่งมีความต้องการเข้าถึงการรับรู้สารจากสื่อต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณข้อมูลข่าวสารและเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็มีมากมายตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นเองในชีวิตประจำวัน ในสังคมต่าง ๆ หรือข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ผลิตตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการรับรู้สารหรือเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เมื่อมีผู้ที่ต้องการสื่อสารหรือมีข้อมูลที่ต้องการเผยแพร่ มีสื่อที่ใช้ในการนำเสนอสาร และมีผู้ต้องการรับสาร การสื่อสารจึงเกิดขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงมือผู้รับสารที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในวงกว้างได้อย่างทั่วถึง กระบวนการเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีตัวกลางหรือผู้ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้กลไกการสื่อสารสมบูรณ์ นั่นก็คือสื่อสารมวลชนซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของผู้ส่งสารในการส่งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ไปยังผู้รับสารและในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ใช้สื่อในการเผยแพร่ข่าวสารนั้น ๆ ให้กระจายออกไปในวงกว้างเพื่อให้ผู้รับสารมีโอกาสเข้าถึงสารให้ได้มากที่สุด สื่อสารมวลชนจึงเป็นวิชาชีพที่เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการสื่อสารและเป็นวิชาชีพที่เกิดขึ้นมาควบคู่กับการเกิดขึ้นของสื่อต่าง ๆ ที่ใช้ในการส่งสารเลยทีเดียว

เนื้อเรื่อง

“วิชาชีพสื่อสารมวลชน” เป็นวิชาชีพของผู้ซึ่งประกอบวิชาชีพด้านการข่าวไม่ว่าจะเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ ข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ รวมไปถึงผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบวิชาชีพเกี่ยวกับนิตยสาร หรือภาพยนตร์ ที่ยอมรับแนวปฏิบัติตามธรรมนูญสภาการหนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2540 และ ธรรมนูญสภาวิชาชีพ ข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พ.ศ. 2552 ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้ที่ทำหน้าที่นำข่าวสารมาเผยแพร่เท่านั้นแต่ยังจัดได้ว่าเป็นด่านแรก ๆ ในการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารก่อนที่จะเผยแพร่ไปสู่ผู้รับสารหรือสาธารณะชนอีกด้วย เพราะสื่อสารมวลชน คือ ผู้ที่ทำหน้าที่โดยตรงในการหาข่าว การเลือกข่าวที่จะนำเสนอ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ สรุป และเรียบเรียงข้อมูลเหล่านั้นออกมาเพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสาร อีกทั้งยังต้องคิดรูปแบบวิธีการในการนำเสนอ การใช้ถ้อยคำเพื่อดึงดูดความสนใจ การเลือกภาพประกอบ การมีไหวพริบในการถามคำถามในกรณีที่ต้องมีการสัมภาษณ์แหล่งข่าว การลำดับความสำคัญของข่าวหรือข้อมูลที่จะต้องนำเสนอ ไปจนถึงการติดตามความคืบหน้าของข่าวในกรณีเป็นเรื่องที่มีความต่อเนื่องของเหตุการณ์และยังไม่มีบทสรุปเป็นที่สิ้นสุด

วิชาชีพสื่อสารมวลชนจัดว่าเป็นวิชาชีพที่มีบทบาทต่อชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ สื่อสารมวลชนจึงมีช่องทางในการใช้สื่อในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้อย่างหลากหลาย สามารถเลือกให้เหมาะสมตามกลุ่มเป้าหมายของผู้รับสาร คนทุกกลุ่มในสังคม ทุกระดับการศึกษา ทุกสาขาอาชีพ ก็มีโอกาสที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะสามารถเลือกช่องทางการรับข้อมูลได้ตามความเหมาะสมและความสะดวกต่อการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งระหว่างการนั่งรถเดินทางไปทำงาน ในเวลาว่างระหว่างวัน ผู้คนก็สามารถที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบพกพาต่าง ๆ ที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ ในขณะที่ข้อมูลข่าวสารในแต่ละวันก็มีอย่างหลากหลาย ทำให้ผู้รับสารสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมกับสาขาวิชาชีพของตน อย่างเช่น ชาวสวน ชาวนา ผู้ประกอบอาชีพทางด้านกสิกรรมก็อาจจะเลือกติดตามข่าวด้านการเกษตรเป็นพิเศษ ในขณะที่นักธุรกิจก็อาจติดตามข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจ หุ้น การลงทุนต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการทำธุรกิจในแต่ละวัน นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ ก็สามารถเลือกติดตามข่าวที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาของตนได้โดยเฉพาะ เช่น ข่าวความก้าวหน้าทางวิทยาการ การค้นพบใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งการที่ข้อมูลข่าวสารจะถูกถ่ายทอดจากแหล่งข่าวมาสู่มือผู้รับสารโดยทั่วไปนั้นก็ต้องผ่านบุคคลในสาขาวิชาชีพสื่อสารมวลชน ทำให้วิชาชีพนี้เป็นวิชาชีพที่มีบทบาทต่อ มุมมอง แนวความคิด และทัศนคติของคนในสังคมค่อนข้างมาก เพราะการที่ผู้รับสารหรือประชาชนโดยทั่วไปจะรับข้อมูลข่าวสารจากทุกที่ ทุกแหล่งข้อมูล แล้วมาวิเคราะห์สรุปหรือพิจารณาความถูกต้องด้วยตนเองอย่างครอบคลุมทุกประเด็นนั้นเป็นเรื่องที่ลำบากด้วยเงื่อนไขของหน้าที่ทางสังคมในแง่การทำงานหรือการเรียน ผู้รับสารส่วนใหญ่จึงมักจะเลือกรับข้อมูลจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง หรือหลายแหล่งตามแต่ความสะดวกและความเหมาะสม หรือความเชื่อถือต่อสื่อนั้น ๆ ของตนเอง ทุก ๆ ข้อมูลข่าวสารที่สื่อมวลชนนำเสนอออกไปสู่สาธารณะจึงมีอิทธิพลต่อผู้คนในวงกว้าง การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความชัดเจนในการนำเสนอ เพื่อให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจข้อมูลข่าวสารโดยไม่เกิดการตีความผิด มีความเที่ยงตรงในการนำเสนอ และไม่มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่ผู้คนมีความแตกต่างทางความคิดและอุดมการณ์อย่างชัดเจน การบิดเบือนข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามอาจนำมาซึ่งปัญหาจนกลายเป็นความขัดแย้งบานปลายได้ และการจะนำเสนอข่าวสารหรือข้อมูลใด ๆ ก็ควรจะมีการตรวจสอบถึงความถูกต้องของข้อมูลและแหล่งข่าวหรือแหล่งที่ได้ข้อมูลมาว่ามีความน่าเชื่อถือมากเพียงใดก่อนที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะชน เพราะในยุคที่คนเกือบทุกบ้านมีอินเตอร์เน็ตใช้ ข้อมูลข่าวสารสามารถถูกเผยแพร่และส่งต่อได้อย่างรวดเร็วไปสู่คนในวงกว้าง หากมีความผิดพลาดของข้อมูลแม้เพียงนิดเดียวก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปเป็นระยะเวลายาวนานเพราะข้อมูลที่เผยแพร่ไปทางอินเตอร์เน็ตและมีผู้เห็นแล้ว สามารถถูกทำซ้ำและเผยแพร่ต่อได้เรื่อย ๆ แม้แหล่งข้อมูลจะลบข้อมูลนั้นออกไปแล้วก็ตาม ดังนั้นนอกจากสาธารณะชนหรือประชาชนผู้ทำหน้าที่รับสารต่าง ๆ จะต้องมีวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกเผยแพร่ออกมาตามสื่อต่าง ๆ แล้วสื่อสารมวลชนก็ควรจะเป็นด่านแรกที่ดีที่จะทำหน้าที่คัดกรองข้อมูลเหล่านั้นก่อนการเผยแพร่ อย่างน้อยก็ทำให้ผู้รับสารได้มีแหล่งอ้างอิงที่มั่นใจได้ว่าหากเป็นการเผยแพร่ข่าวสารจากสื่อสารมวลชนที่แท้จริง จากสื่อที่เชื่อถือได้แล้ว ก็สามารถที่จะมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีความเที่ยงตรงสูง

จากเหตุผลเหล่านี้เองที่ทำให้วิชาชีพสื่อสารมวลชนเป็นวิชาชีพที่มีความท้าทายในการทำงานในมุมมองของข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก จากเดิมที่เคยคิดว่าหากเป็นสื่อสารมวลชนทางด้านวิทยุและโทรทัศน์ก็จะต้องมีทักษะความสามารถด้านการพูดเป็นหลัก หากเป็นสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารต่าง ๆ ก็ต้องเน้นทักษะความสามารถทางด้านการเขียน ซึ่งแน่นอนว่าทักษะเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อสารมวลชนแต่ละสาขาต้องมี แต่นอกจากนั้นแล้ว การที่สื่อสารมวลชนจะต้องนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ไปพร้อม ๆ กับการวิเคราะห์ข้อมูลที่มาจากหลากหลายแหล่ง ต้องเค้นเอาหัวใจของแต่ละข่าวออกมานำเสนอ ต้องเลือกประเด็นที่มีความถูกต้องชัดเจน และต้องสามารถสื่อสารออกไปให้สาธารณะชนเข้าใจในสิ่งที่ต้องการสื่อนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถมาก วิชาชีพสื่อสารมวลชนจึงเป็นเหมือนการผจญภัยในโลกของข่าวสาร ที่ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การนำเสนอข่าวช้ากว่าสื่ออื่น ๆ ไปเพียงวันเดียวก็อาจทำให้เรื่องนั้นหมดความน่าสนใจไปเลยทีเดียว สื่อสารมวลชนต้องทำงานเพื่อแข่งกับเวลาในการช่วงชิงพื้นที่ในการเสนอข่าวแต่ขณะเดียวกันก็ต้องใช้วิจารณญาณ ใช้ประสบการณ์ในการทำข่าวหรือการนำเสนอเพื่อไม่ให้ข่าวสารที่นำเสนอออกไปมีความผิดพลาด เพราะถ้าหากนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องออกไป สื่อสารมวลชนก็อาจจะกลายเป็นด่านแรกที่ต้องถูกสังคมตำหนิในการนำเสนอข้อมูล และข่าวบางประเภทที่เป็นข่าวเฉพาะด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นข้อมูลข่าวสารทางด้านวิชาการ หรือทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ต้องผ่านการศึกษา ทดลอง ตรวจสอบข้อมูลซ้ำแล้วซ้ำเล่าของบรรดาเหล่านักวิทยาศาสตร์เป็นระยะเวลาหนึ่ง กว่าจะมั่นใจได้ถึงความถูกต้องจนนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน การที่สื่อสารมวลชนจะนำข่างทางด้านนี้มานำเสนอจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเต็มไปด้วยคำศัพท์ทางเทคนิค และทฤษฏีต่าง ๆ ที่แม้แต่นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังต้องใช้เวลาในการศึกษาอย่างยาวนานกว่าจะสามารถเข้าใจจนทำวิจัยออกมาได้ การที่สื่อสารมวลชนจะใช้เวลาเพียงช่วงสั้น ๆ ในการหาข้อมูลมานำเสนอและยังต้องคิดหารูปแบบวิธีและการแปลคำศัพท์ทางเทคนิคต่าง ๆ ในการนำเสนอให้สาธารณะชนทั่วไปที่ไม่ได้มีความรู้ทางด้านนั้นโดยตรงสามารถที่จะรับสารและสามารถเข้าใจได้อย่างไม่ยากลำบาก และยังต้องนำเสนอออกมาให้เป็นรูปแบบที่น่าสนใจ ในขณะที่ต้องคงความถูกต้องของข้อมูลจากแหล่งข่าวไว้ให้ได้ เพราะข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์นั้นหากนำเสนอโดยการใช้คำหรือลำดับประเด็นในทฤษฏีผิดพลาดไปเพียงนิดเดียวก็อาจกลายเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ผิดเพี้ยนไปจากข้อมูลที่แหล่งข่าวถ่ายทอดออกมา การนำเสนอข่าวสารของผู้ที่ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้การนำเสนอข่าวของสื่อสารมวลชนจะต้องมีความถูกต้องเที่ยงตรงมาเป็นอันดับต้น ๆ แต่การนำเสนอข่าวสารในบางเรื่องที่เป็นเรื่องอ่อนไหวต่อความรู้สึกของคนส่วนมากหรือเป็นเรื่องที่อาจกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือสิทธิมนุษยชนของแหล่งข่าวหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในเนื้อหาของข่าวแล้ว สื่อสารมวลชนก็ยิ่งต้องระมัดระวังในการนำเสนอเป็นอย่างยิ่ง แม้การนำเสนอข่าวสารจะต้องเน้นเนื้อหาที่ถูกต้อง เน้นความเป็นจริงแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นความจริงที่เมื่อเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะแล้วไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตในสังคมของแหล่งข่าว อย่างเช่น ข่าวการที่ผู้หญิงถูกระทำชำเรา เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนต่าง ๆ ก็ต้องระวังในการเผยแพร่ชื่อและรูปภาพของผู้ถูกกระทำรวมไปถึงญาติของผู้ถูกกระทำเหล่านั้นด้วยเพราะอาจจะเป็นการกระทำซ้ำเติมโดยทางอ้อมให้ผู้ถูกกระทำเสมือนถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากสายตาของคนในสังคมที่มีโอกาสได้รับรู้ข่าว ทำให้ผู้เสียหายได้รับความอับอายและไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมต่อไปได้อย่างปกติสุข หากเป็นข่าวอาชญากรรมที่มีภาพของผู้เสียชีวิต หรือภาพเปลือย ภาพอนาจารต่าง ๆ ก็ไม่ควรนำเสนอภาพที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้นให้เห็นเด่นชัดจนเกินไป เพราะการนำเสนอภาพที่ไม่เหมาะสมแม้จะเป็นผู้ที่เสียชีวิตก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ตายได้เช่นกัน แม้แต่ชื่อสถานที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ในเนื้อหาของข่าวบางข่าวก็ต้องมีความระมัดระวังในการนำเสนอด้วยเช่นกันเพราะอาจจะกระทบกับชื่อเสียงหรือทำให้ประชาชนโดยทั่วไปสามารถเดาได้ว่าผู้เสียหายที่อยู่ในข่าวเป็นใคร และในบางเรื่องที่คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุดการนำเสนอข่าวการจับกุมผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยในคดีต่าง ๆ สื่อสารมวลชนก็ไม่ควรเสนอข่าวในลักษณะที่เป็นการตัดสินว่าผู้ต้องสงสัยนั้นเป็นผู้กระทำความผิดแล้วไม่ว่าจะโดยการใช้คำเรียกแทนผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในลักษณะที่ทำให้สาธารณะชนมองบุคคลนั้นเป็นผู้ร้ายซึ่งอาจจะมาจากจุดประสงค์ที่ต้องการใช้คำที่ดึงดูดหรือกระตุ้นความน่าสนใจของข่าว หรือการเขียนหรือนำเสนอข่าวในเชิงตัดสินว่าบุคคลผู้นั้นเป็นผู้ผิดแล้วจริง ๆ เพราะหากคดีถึงที่สิ้นสุดแล้วบุคคลผู้นั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิดจริงก็อาจสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับผู้ต้องหาคนนั้นได้เช่นกัน สิ่งต่าง ๆ ที่ควรระมัดระวังเหล่านี้มักถูกเรียกโดยรวมว่าจริยธรรมของสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพนี้จะต้องมีและตระหนักอยู่เสมอนอกเหนือไปจากความรู้ความสามารถต่าง ๆ ตามสาขาและลักษณะงานในหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ

สรุป

แม้วิชาชีพสื่อสารมวลชนจะเป็นวิชาชีพมีความน่าสนใจ และท้าทายความสามารถของคนที่มีความใฝ่ฝันจะเข้ามาทำงานที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ รวมไปถึงการได้ร่วมงานกับกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการถ่ายทอดข้อมูลผ่านสื่อมวลชนไปยังสาธารณชน แต่การจะเข้ามาทำหน้าที่สื่อสารมวลชนนั้นก็ยังนับได้ว่าเป็นเรื่องยากและท้าทายความสามารถ แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่านั้นก็คือการเป็นสื่อสารมวลชนที่มีคุณภาพ สามารถถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ไม่มีการบิดเบือนของข้อมูล คำนึงถึงหลักจริยธรรมในการทำหน้าที่ เคารพสิทธิมนุษยชนของแหล่งข่าว มีความซื่อสัตย์ในการนำเสนอ และในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้ชัดเจนในเนื้อหาครอบคลุมทุกแง่มุมจากแหล่งข่าว ด้วยความรวดเร็ว และสามารถดึงความน่าสนใจของข้อมูลข่าวสารนั้น ๆ ออกมานำเสนอในแง่มุมที่เหมาะสม ให้สาธารณะชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องทันต่อเหตุการณ์ ได้ทั้งความรู้ สาระ หรือทำเรื่องวิชาการยาก ๆ ให้เป็นเรื่องที่คนทั่วไปสามารถรับรู้ได้อย่างเข้าใจ และไม่รู้สึกเบื่อหน่ายในข้อมูลข่าวสารที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อออกมาในแต่ละวัน ให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารไม่เป็นเรื่องที่จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่ม เฉพาะบุคคล แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมรับรู้ข่าวสารของต่างวิชาชีพต่างสาขาต่างสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน

ที่มา :
  • จักร์กฤษ เพิ่มพูล. 2554. จริยธรรมสื่อ. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.thaimedialaw.org. 12 มีนาคม 2556
  • วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์. 2555. จริยธรรมแห่งวิชาชีพของสมาชิกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พ.ศ. 2555. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.thaibja.org/thaibja/index.php?option=com_content&view=article&id=1617&Itemid=161&lang=th. 12 มีนาคม 2556
  • sukchai. 2551. การเขียนบทความ. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://blog.eduzones.com/yimyim/3424. 12 มีนาคม 2556
  • PingPong. 2552. วิธีเขียนบทความ. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_detail.php?mul_content_id=1034. 12 มีนาคม 2556
  • สุกัญญา รวมธรรม. 2555. ความรู้เกี่ยวกับการสื่อมวลชน(เพื่อการศึกษา). (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://journalists2012.blogspot.com/2012/05/blog-post.html#comment-form. 12 มีนาคม 2556
  • เวบไซค์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย. 2556. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.tja.or.th. 12 มีนาคม 2556
  • เวบไซค์สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย. 2556. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.newsbroadcastingcouncil.or.th. 12 มีนาคม 2556
  • การสื่อสาร. 2556. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/การสื่อสาร. 12 มีนาคม 2556