Vientiane Day3 @ Laos

วันสุดท้ายในเวียงจันทร์แล้วค่ะ จะบอกว่าวันนี้ตื่นสายมากลากสังขารลงจากเตียงไม่ใหว ฮ่าๆ กว่าจะลงมาทานอาหารเช้าได้ก็ 9 โมงกว่าๆ แล้วค่ะ อาหารเช้าของโรงแรมมะลิน้ำพุนี้จะเป็นแบบให้เลือกอาหารจากเมนูได้คนละ 2 อย่าง เครื่องดื่ม 1 อย่างค่ะ ส่วนน้ำเปล่า 1 แก้วนี่ให้มาด้วยอยู่แล้ว เมนูมีไม่ค่อยหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นอาหารเช้าอ่อนๆ ไข่ ขนมปัง โจ๊ก ของหวานๆ เบาๆ กับผลไม้ ไม่ค่อยใช่แนวเราเท่าใหร่แต่ก็ทำออกมาได้น่ากินค่ะ

อาหารเช้าของโรงแรมมะลิน้ำพุ

อาหารจัดมาน่ารักดี รสชาติก็โอเคเลยค่ะ แต่ปริมาณนี่ค่อนข้างมีปัญหาสำหรับคนกินเยอะแบบเรานิดนึงนะ อิอิ พนักงานเสิร์ฟมีแค่คนเดียวพูดเพราะและสุภาพมากค่ะ เราเป็นคนไทยเค้าก็จะพูดภาษาไทยกับเรา ลงท้ายด้วยคำว่า"ครับ"ด้วยนะ เพราะปรกติผู้ชายลาวเค้าจะมีคำลงท้ายน่ารักๆ เวลาพูดที่เราเห็นทุกคนเลยเวลาพูดเค้าจะมีคำลงท้ายว่า"โด่ย" คงจะเหมือนกับคำว่าครับภาษาไทย แต่ผู้หญิงเท่าที่เราสังเกตเหมือนจะไม่มีคำลงท้ายเวลาพูดนะ เพราะเค้าจะพูดกับเราปรกติไม่ว่าจะพูดเป็นภาษาไทยหรือภาษาลาว แต่ฟังดูไม่ห้วนนะคะเพราะส่วนใหญ่เค้าจะพูดสำเนียงค่อนข้างอ่อนช้อย ฟังดูเนิบๆ เบาๆ

กว่าจะทานอาหารเช้าเสร็จก็เกือบ 10 โมงเช้าแล้วค่ะ วันนี้แดดแรงอากาศร้อนกว่าเมื่อวันที่แล้ว เดิมทีวางแผนว่าจะไปชมตลาดเช้า(ในตอนเช้า)ซะหน่อยแต่ตอนนี้ตลาดคงวายไปหมดแล้ว ก็เลยเปลี่ยนแผนเป็นการเดินไปชมสถานที่ที่เหลืออีกสองที่ก็คือวัดสีสะเกดและหอพระแก้วซึ่งอยู่ติดกันและไม่ไกลจากโรงแรมที่เราพักแล้วจากนั้นก็จะเดินไปซื้อตั๋วและรอขึ้นรถกลับไทยที่บขส.เลย

หลังจากเก็บของและ Check-out ออกจากโรงแรมก็ออกเดิน(เท้า)ไปยังจุดหมายของวันนี้เลยค่ะ หอพระแก้วซึ่งเดิมเคยเป็นวัดหลวงของเวียงจันทร์ค่ะ


ประตูทางเข้าหอพระแก้วค่ะ
ประตูทางเข้าจะมีชื่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ด้านในที่อยู่ติดกับประตูจะเป็นร้านจำหน่ายของที่ระลึกค่ะ จุดนี้ไม่มีค่าเข้าชมนะคะ พอเข้าไปตอนแรกเราก็งงๆ ว่าหอพระแก้วอยู่ตรงใหนเพราะบริเวณข้างในก็ไม่กว้างมากนักแต่ดูเหมือนไม่มีอะไรเลย แล้วก็ถึงบางอ้อตอนเห็นเณรรูปหนึ่งกำลังยืนถ่ายรูปอะไรบางอย่างค่ะ

ภาพหอพระแก้วปิดระหว่างการบูรณะค่ะ

และนั่นเองค่ะคือหอพระแก้ว น่าเสียดายมากเพราะกำลังอยู่ระหว่างการบูรณะจึงทำให้ไม่สามารถเข้าชมภายในได้ค่ะ เราก็เลยได้แต่ยืนมองตาละห้อยอยู่ภายนอก(ตามรูปเลย) -_-'

ภาพ Backpacker Intern คนนึงกำลังยืนมองตาละห้อย ไม่ได้ดูข้างในอ่ะ T^T

ก่อนจะไปชมบริเวณรอบๆ หอพระแก้วต้องบอกก่อนนะคะว่าที่ชื่อหอพระแก้วนี่ก็เพราะว่าเดิมเคยเป็นที่ประดิษฐานองค์พระแก้วมรกตที่ปัจจุบันนี้อยู่ที่ประเทศไทยเราค่ะ ซึ่งองค์พระแก้วมรกตถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่นครเวียงจันทร์(ตอนนั้นคือกรุงศรีสัตนาคนหุต)ในสมัยพระไชยเชษฐาธิราชที่ 1 ครองราช(พ.ศ.2091-2114) พระองค์อ้างสิทธิ์พระราชมารดาในการอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากอาณาจักรล้านนา(ดั้งเดิมเลยพระแก้วมรกตประดิษฐานที่ล้านนา เชียงใหม่ค่ะ) ต่อมาในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก(ในขณะนั้น)หรือพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ของกรุงรัตนโกสินทร์ ยกทัพมาปราบจนทำให้กรุงศรีสัตนาคนหุตแตกพ่ายและเสียกรุงให้กับกรุงธนบุรี พระแก้วมรกตที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดหลวงหอพระแก้วจึงได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังกรุงธนบุรีที่วัดพระแก้วจนถึงปัจจุบันค่ะ นั่นก็คือถ้าหากว่าหอพระแก้วที่เวียงจันทน์ไม่ได้อยู่ระหว่างบูรณะในขณะที่เราไปในครั้งนี้สิ่งที่เราจะได้เห็นก็จะมีเพียงพระแท่นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตเดิมเท่านั้นเพราะองค์พระแก้วมรกตนั้นได้มาอยู่ที่ไทยเราแล้ว

หน้าจั่วหอพระแก้วค่ะ
ด้านข้างหอพระแก้วจะมีไม้เป็นช่วงลำต้นและรากไม้ที่ถูกแกะสลักเป็นรูปต่างๆ ค่ะ อันนี้เราไม่แน่ใจที่มาว่าเป็นของเก่าหรือทำใหม่เหมือนกันแต่ลวดลายที่สลักมีทั้งสัตว์ต่างๆ คน บ้านเรือนและวิถีชีวิตค่ะ (มีตัวที่ดูเหมือนไดโนเสาร์ด้วยนะ ???)

ภาพไม้แกะสลักที่อยู่ในบริเวณหอพระแก้ว
ภาพบรรยากาศรอบๆ บริเวณหอพระแก้วค่ะ

ด้านหน้าหอพระแก้วจะมีเสาธงชาติและธงค้อนเคียวอยู่ค่ะ

รูปปั้นที่อยู่ภายในบริเวณหอพระแก้ว

หินจาก
 ออกจากหอพระแก้วมาด้านตรงข้ามเลยจะเป็นวัดสีสะเกด(Wat Si Saket) วัดนี้อยู่ใจกลางเมืองเวียงจันทน์เลยค่ะ

ประตูทางเข้าวัดสีสะเกด
ก่อนจะเข้าไปเราต้องซื้อปี้(ตั๋ว)ค่าเข้าวัดคนละ 5,000 KIP นะคะ

ชื่อเต็มของวัดสีสะเกด ( วัดสะตะสะหัดสาราม)
บนซุ้มประตูทางเข้าวัดมีชื่อวัดเขียนอยู่ว่า"วัดสะตะสะหัดสาราม.สีสะเกด" ซึ่งคำว่า"สะตะสะหัดสาราม"แปลว่า"แสน"หรือก็คือวัดที่มีพระพุทธรูปแสนองค์นั่นเองค่ะ ที่ชื่อว่าวัดแสนก็เพราะสมัยที่สร้างวัดระยะแรกพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชและพุทธศาสนิกชนชาวลาวในอดีตได้สร้างพระพุทธรูปทั้งองค์เล็กและองค์ใหญ่ประดิษฐานไว้ทั่ววัด 100,000 องค์ (ปัจจุบันมีไม่ถึงแสนแล้ว) วัดนี้เดิมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชของลาวค่ะ

ทางเข้าพระอุโบสถ
เมื่อเข้าไปด้านในจะเป็นทางเข้าอีกชั้นไปสู่พระอุโบสถค่ะ ตอนนี้กลายเป็นหอพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว 

ด้านหน้าทางเข้าพระอุโบสถ

ซึ่งตรงนี้เราจะต้องโชว์ปี้ให้เจ้าหน้าที่พร้อมแต่งตัวให้เรียบร้อยด้วยนะคะ แม่หญิงต้องกางเกงขายาวหรือกระโปรงยาวเลยเข่าค่ะ ตอนที่เราไปกางเกงขาสั้น กระโปรงเหนือเข่า ต้องใส่ผ้าถุงก่อนถึงเข้าไปได้นะคะ แต่ที่วัดจะมีเตรียมไว้ให้(เหมือนกับการเข้าชมวัดพระแก้วของเราที่กทม.ค่ะ)

ชอบมากค่ะใส่ผ้าถุง อยู่ไทยเห็นแต่แม่ใส่ตัวเองไม่เคยใส่เลย อิอิ
เข้าไปด้านในแล้วก็ต้องบอกว่าคุ้นตา(พะนะ) เพราะสถาปัตยกรรมภายในดูคล้ายคลึงกับที่ไทย ซึ่งที่จริงแล้วเป็นการสร้างตามแบบอย่างศิลปะไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นค่ะ เพราะในสมัยนั้นลาวตกเป็นเมืองขึ้นของไทย ความจริงแล้ววัดสีสะเกดในรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยนี้เป็นการสร้างครั้งที่ 2 โดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 หรือพระเจ้าอนุวงศ์ค่ะ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2361 วัดนี้ที่จริงมีมานานแล้วสร้างตั้งแต่สมัยพระบิดาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ในศตวรรษที่ 16 ค่ะ ประมาณปี พ.ศ. 2094

แผ่นศิลาจารึก
ตรงประตูทางเข้าอุโบสถจะมีแผ่นศิลาจารึกอยู่ เป็นเรื่องราวประวัติที่มาของวัดสีสะเกดค่ะ  พอเข้าไปด้านในจะมีลักษณะเป็นพระอุโบสถอยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยกำแพงทางเดิน 4 ด้าน เค้าเรียกว่ากมเลียน ฝาผนังแต่ละด้านทำด้วยดินเผาส่วนโครงสร้างจะเป็นไม้และมีการทำผนังเป็นช่องเล็กๆ แล้วมีพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ อยู่ในนั้น รวมทั้งหมดกว่า 6 พันองค์ แล้วก็มีที่อยู่ด้านบนพระอุโบสถด้านในอีกทั้งองค์ใหญ่และองค์เล็กๆ รวมทั้งหมดในวัดก็ประมาณ 1 หมื่นกว่าองค์ได้ค่ะ (นับเป็นวัดที่มีพระพุทธรูปมากที่สุดในเวียงจันทน์)

พระพุทธรูปที่อยู่ในช่องผนังและโดยรอบจะมีหลายอิริยาบถทั้งปางที่นั่งและยืนค่ะ

ตัวพระอุโบสถเห็นว่าเป็นของที่บูรณะขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2554 ค่ะ ภายในจะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระประธานเดิมเป็นองค์เล็กกว่านี้ที่ทำด้วยทองสำริดแต่พระเจ้าอนุวงศ์ได้ปฏิสังขรณ์ก่อครอบ หันหน้าไปทางด้านทิศเหนือ แต่ภายในห้ามถ่ายภาพค่ะเลยมีแต่ภาพภายนอกมา

ภาพตัวอาคารพระอุโบสถค่ะ
ด้านนอกของกมเลียนพระอุโบสถค่ะ

ภายนอกพระอุโบสถ
ถัดไปด้านหลังจะเป็นที่จำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ค่ะ เหลือเนื้อที่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพราะเนื้อที่วัดถูกแบ่งไปสร้างส่วนราชการซะส่วนใหญ่

บริเวณโดยรอบวัดสีสะเกด มีเจดีย์อยู่ตามมุมต่างๆ 
ตามมุมต่างๆ ของวัดสีสะเกดเราจะเห็นเจดีย์ได้เกือบทุกมุมค่ะ

บริเวณโดยรอบวัดสีสะเกด
ก่อนออกจากวัดสีสะเกดแวะไปดูหอพระไตรปิฏกค่ะ อยู่ด้านข้างของพระอุโบสถเดิมเป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก ตำราคัมภีร์และเอกสารทางพระพุทธศาสนา แต่เมื่อครั้งที่ไทยเรายกทัพมาตอนที่เกิดกรณีพิพาทไทย-ลาวหรือที่เรารู้จักกันว่ากบถเจ้าอนุวงศ์ ไทยเราได้นำเอาพระไตรปิฎกไปจากหอจนหมดแล้วค่ะ เหลือเพียงหอพระไตรเปล่าๆ ไว้เท่านั้น

หอพระไตรปิฎกถ่ายจากด้านในวัด

หลังคาหอพระไตรปิฎกเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบพม่าค่ะ (ก่อนพระเจ้าอนุวงศ์ขึ้นครองราชเคยมาศึกษาที่ไทยหรือสยามในตอนนั้น และพระองค์ก็เคยเสด็จมาช่วยไทยรบกับพม่า 2 ครั้ง จึงอาจมีส่วนทำให้วัดสีสะเกดได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมทางสยามและพม่า)


หอพระไตรปิฎกถ่ายจากด้านนอกวัด
ด้านนอกกำแพงวัดสีสะเกดในส่วนที่ติดกับหอพระไตรปิฏกจะเห็นว่ามีการตัดถนนและสร้างฟุตบาทเหลื่อมเข้าไปในบริเวณวัดทำให้หอพระไตรปิฏกยื่นพ้นแนวกำแพงวัดใหม่ออกมาในส่วนฟุตบาทจนเกือบติดถนนและสร้างกำแพงอ้อมไปตามแนวหอ เป็นภูมิทัศน์ที่ดูขัดๆ ตาเล็กน้อยค่ะ ซึ่งเรามาหาข้อมูลภายหลังทำให้ทราบว่าเดิมทีแล้วหอพระแก้วก็อยู่ในบริเวณเดียวกับวัดสีสะเกดซึ่งแต่เดิมมีขอบเขตกว่างกว่านี้ แต่มีการแบ่งพื้นที่ไปใช้ในการสร้างส่วนราชการต่างๆ และตัดถนนผ่านทำให้หอพระแก้วและวัดสีสะเกดเลยแยกออกจากกันคนละฟากถนนดังเช่นในปัจจุบัน

ประตูทางเข้าวัดสีสะเกด ถ่ายจากด้านในวัด
หลังจากชมวัดสีสะเกดเสร็จก็เป็นเวลาเที่ยงพอดีค่ะ เจ้าหน้าที่ก็กำลังจะพักทานข้าวเพราะปิดประตูไม่ให้เข้าแล้วรอเปิดแต่ให้นักท่องเที่ยวที่อยู่ข้างในออกเท่านั้น และสำหรับเราถึงเวลากลับสู่ไทยแล้วค่ะ จากวัดสีสะเกดเดินไปบขส.ไม่ไกลมากค่ะ ระหว่างทางก็ได้ถ่ายรูปบรรยากาศสถานที่ต่างๆ ของลาวด้วย

ช่องขายตั๋วรถกลับไทยค่ะ
ที่บขส.ลาว ช่องขายตั๋วรถกลับไทยจะมีให้เลือกสองเส้นทางค่ะ คือ จะไปถึงแค่หนองคายหรือยิงยาวไปอุดร รถมีเรื่อยๆ ค่ะ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีรถกลับเลย ค่ารถกลับไทยคนละ 100 THB ค่ะ จ่ายเงินไทยได้เลย แต่ไหงค่ารถขากลับแพงกว่าขามาก็ไม่รู้นะคะ(ขามาคนละ 85 THB) ระยะทางเท่ากัน รถแบบเดียวกัน แถมวันที่เรากลับได้กลับคันเดียวกับขาที่เรานั่งมาโดยบังเอิญค่ะ คนขับ คนตรวจตั๋วคนเดียวกันด้วย แถมที่บังเอิญกว่านั้นคือได้ที่นั่งที่เดิมเป๊ะเลย A10 ทั้งขาไปและขากลับ ฮ่า ๆๆๆ

ร้านขายขนมปังแถวบขส.ค่ะ
เราได้รถขากลับตอน 14.30 ค่ะ เหลือเวลาอีกพอสมควร ตอนแรกกะจะไปหาอะไรกินที่ห้างตรงข้ามบขส. แต่ไปดูแล้วไม่มีอะไรที่กินได้เลย มันเหมือนตลาดคลองถมเหมือนมาบุญครองประมาณนั้นอ่ะค่ะ เลยตัดสินใจไปฝากท้องที่ศูนย์อาหารที่เวียงจันทน์เซ็นเตอร์ ระหว่างทางร้านขนมปังเต็มไปหมดก็เลยแวะซื้อขนมปังใส่ใส้แนวอาหารฝรั่งเศส(อิอิ ไม่รู้ลาวเค้าเรียกอะไร) ราคาอันละ 5,000 KIP อีกอย่างจะได้ถ่ายรูปให้สมกับมาลาวค่ะ เพราะมันเหมือนเป็นอาหารท้องถิ่นประจำลาวไปแล้ว (อันที่จริงที่เวียดนามก็มีนะ)

ภาพบรรยากาศร้านค้า ของที่ขายคล้ายๆ ก็เป็นขนมคล้ายๆ ตามตลาดแถวชายแดนไทย
ก่อนเข้าไปในเวียงจันทน์เซ็นเตอร์ไปสะดุดประตูทางเข้า ภาษาเค้าน่ารักดีค่ะ คำว่า"ผลัก"หรือ"push" ภาษาอังกฤษ ภาษาลาวเค้าเขียน"ยู้"เลยถ่ายรูปมาซักนิด ^_^ คำเดียวกับภาษาอีสานค่ะเพียงแต่ที่บ้านเราไม่ได้เขียนแบบนี้ที่ประตูห้าง

ยู้นะคะประตูถึงจะเปิด น่ารักดีค่ะ
เข้าไปในห้างก็ตรงที่ไปที่ศูนย์อาหารเลยค่ะ วันนี้เล็งข้าวเปียกเส้นไว้ ราคาชามละ 16,000 KIP ค่ะ ปริมาณเยอะมาก รสชาติวันนี้ก็โอเคเลยค่ะ

ข้าวเปียกเส้น
อันนี้เป็นน้ำและเป๊บซี่ยี่ห้อของลาวค่ะ ที่จริงซื้อที่ร้านสะดวกซื้อตั้งแต่เมื่อวานแต่ยังเหลือเลยพกมากินเที่ยงด้วยเลย ^_^

น้ำดื่ม"หัวเสือ" กับเป๊บซี่ค่ะ
ระหว่างทานอาหารก็แอบถ่ายรูปนักเรียนลาวค่ะ เค้าใส่ผ้าถุงกับเสื้อนักเรียนดูน่ารักไปอีกแบบค่ะ(อีกภาพถ่ายตอนเดินจากวัดมาบขส.) เวลาตอนนั้นเป็นช่วงพักกลางวัน เด็กๆ ลาวก็มาเดินห้างกันเยอะเลยค่ะ

นักเรียนลาวในเครื่องแบบน่ารักๆ
ทานอาหารเสร็จก็รีบออกจากห้างค่ะ ตอนแรกคิดว่ารถจะเลทเหมือนขามาแต่ก็กะว่ายังไงก็จะไปรอขึ้นรถที่บขส.ก่อนครึ่งชม. ก่อนออกจากห้างสายตาไปสะดุดเครื่องดับเพลิงในห้าง ไม่ได้อยู่ในตู้กระจกเหมือนห้างในบ้านเรานะคะวางอยู่บนพื้นที่มีเส้นสีแดงล้อมรอบไว้พร้อมป้ายด้านบนเลยขอเก็บภาพนิดนึง ที่จริงก็สะดวกดีนะเวลาเกิดอะไรขึ้นก็หยิบเลยไม่ต้องทุบตู้ ฮ่า ๆๆ (รู้สึกเหมือนเคยเห็นแบบนี้ที่ประเทศใหนหรือในรายการทีวีซํกรายการเนี่ยแหละค่ะแต่นึกไม่ออก)

ตู้ดับเพลิงในห้างค่ะ
มาถึงบขส.ก่อนเวลารถออกครึ่งชั่วโมงค่ะ แต่รถมารอพร้อมคนที่กำลังขนของขึ้นรถแล้ว แล้วรถก็ออกเร็วมาก ดีนะที่มาก่อนเวลา ^_+

บรรยากาศภายในรถขากลับไทยค่ะ สบายๆ เพราะไม่มีขนสินค้าด้วย
ระหว่างทางข้ามสะพานมิตรภาพไทยลาวค่ะ แม่น้ำโขงน้ำไม่ค่อยเยอะ และกระจกรถก็ค่อนข้างมัวเลยเก็บภาพได้ไม่ชัดเท่าใหร่

แม่น้ำโขงจากบนสะพานมิตรภาพไทยลาวค่ะ
ตอนขาไปลาวเราสามารถทิ้งกระเป๋าไว้บนรถแล้วไปตรวจพาสปอร์ตแต่ตัวได้นะคะ แต่ขากลับเข้าไทยต้องเอาของลงหมดค่ะเพราะมีแสกนกระเป๋าด้วย ส่วนภาพข้างล่างถ่ายก่อนผ่านด่านไทยเข้าประเทศค่ะ คนค่อนข้างเยอะมากจนแถวล้นออกมาด้านนอกอาคารยาวเลยค่ะ ได้ยินเจ้าหน้าที่พูดว่าคนผ่านด่านเข้าไทยวันนึงกว่า 3 พันคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานในไทยค่ะ ในขณะที่คนออกจากไทยเข้าลาววันนึงประมาณ 8 ร้อยคนส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว


ผ่านด่านตรงนี้เสร็จก็เข้าไทยโดยสมบูรณ์แล้วค่ะจบทริปการท่องลาวที่ผิดแผนเล็กน้อยโดยสวัสดิภาพ อิอิ



เพิ่มเติม :